Last updated: 15 ก.ค. 2562 | 2434 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติความเป็นมา
ข้าวพันธุ์กข43 ถูกคัดเลือกจากการผสมข้ามพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี (พันธุ์แม่) กับพันธุ์สุพรรณบุรี1 (พันธุ์พ่อ) ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ในฤดูนาปรัง พ.ศ. 2542 คัดเลือกได้สายพันธุ์ SPR99007-22-1-2-2-1 ปลูกทดสอบผลผลิตในศูนย์วิจัยข้าวและในนาเกษตรกรตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2551 มีการรับรองพันธุ์ คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว พิจารณารับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 ใช้ชื่อว่า ข้าวเจ้า กข-43
แหล่งปลูกข้าวพันธุ์กข43 ในปัจุจุบันจะพบแหล่งปลูกอยู่ที่จังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้าวกข. 43 ควรปลูกในพื้นที่นาชลประทาน พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หรือพื้นที่ที่เกษตรกรมีเวลาทำนาน้อยกว่าพื้นที่ปลูกข้าวอื่น ๆ รวมไปถึงในพื้นที่ที่มีปัญหาวัชพืชระบาดในนาข้าวก็เหมาะจะปลูกข้าว กข. 43 ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ข้าวกข. 43 เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 95 วันก็เก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งข้าวกข43 ยังเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคใบไหม้และปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระดับปานกลาง ในพื้นที่ที่มีปัญหาเพลี้ยกระโดดจึงสามารถปลูกข้าวกข43 ได้
ลักษณะทั่วไป
เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 95 วัน ปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม ความสูงประมาณ 103 ซม. ทรงกอตั้ง ต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียวจาง ใบธงตั้งปานกลาง ข้าวเปลือกสีฟาง น้ำหนักข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 30.35 กรัม ข้าวกล้องสีขาว ยาว 7.59 มิลลิเมตร รูปร่างเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย มีปริมาณแอมิโลสต่ำ (18.82 %) คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทาน ดี ข้าวสุก นุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ (ใกล้เคียงข้าวหอมดอกมะลิ 105) มีระยะพักตัว 5 สัปดาห์ ผลผลิต ประมาณ 561 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทาน ดี ข้าวสุกนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ (ใกล้เคียงข้าวหอมดอกมะลิ 105)
คุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ
ค่าดัชนี้น้ำตาลของข้าว | |
กข15 | 69.1 |
กข43 | 57.5 |
พิษณุโลก80 | 59.5 |
ความน่าสนใจ
จากการศึกษาวิจัยของกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาและใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวในเชิงสุขภาพ โดยคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยมากกว่า 100 พันธุ์ พบว่า ข้าวเจ้าพันธุ์ กข43 ให้ปริมาณน้ำตาลกลูโคสต่ำกว่าข้าวอมิโลสต่ำชนิดอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ในมนุษย์จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีที่พบว่าข้าวพันธุ์ กข43 มีค่าดัชนีน้ำตาลในข้าวขาวน้อยกว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และมีค่าใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์หอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวอมิโลสสูงและร่วนแข็ง
"ข้าว กข.43 กินแล้วดีอย่างไร"
"ข้าว กข.43" ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ นั้นดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค เนื่องจากว่า ข้าวที่ให้น้ำตาลต่ำนั้น ร่างกายจะเปลี่ยนแป้งในข้าวให้กลายเป็นน้ำตาลได้ช้าลง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มในระดับที่พอเหมาะ ไม่เพิ่มเร็วจนเกินไป จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และผู้ที่ต้องควบคุมน้ำตาลเป็นพิเศษ รวมถึงผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และคนที่รักสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันนี้ เราจะเห็นว่าคนไทย ห่วงใยและใส่ใจสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น นอกจากจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกกำลังกายแล้ว เรื่องของการเลือกรับประทานข้าว ก็เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักที่เราต้องรับประทานอยู่เป็นประจำ ซึ่งข้าว กข.43 ในข้าวขัดขาวนั้น มีค่าดัชนี้น้ำตาลอยู่ที่ 57.5 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ ถึงปานกลาง และนอกจากคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นที่ถูกอกถูกใจคนรักสุขภาพแล้ว ข้าว กข.43 เมื่อหุงสุกแล้วยังเป็นข้าวที่ให้ความนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายกับข้าวหอมมะลิอีกด้วย
"รู้แบบนี้แล้ว เลือกซักนิด ก่อนคิดจะรับประทานข้าวนะคะ...สุขภาพดีที่เราทุกคนสร้างเองได้"
ที่มาข้อมูล กระปุกดอทคอม, กรมการข้าว, มหากาพย์คนปลูกข้าว
11 ก.ค. 2562
11 ก.ค. 2562
11 ก.ค. 2562
11 ก.ค. 2562