ข้าวไรซ์เบอร์รี่

Last updated: 15 ก.ค. 2562  |  4576 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้าวไรซ์เบอร์รี่

ประวัติความเป็นมา

ข้าวไรซ์เบอรี่ (ภาษาอังกฤษ: Rice Berry) เป็นผลงานการปรับปรุงสายพันธุ์ของ รศ.ดร.อภิชาติ และทีมนักวิจัยจาก ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความร่วมมือจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ + ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ ทำให้ได้ลักษณะที่ดีและคุณประโยชน์เด่นๆ ออกมา ซึ่งพันธุ์ข้าวนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ ห้ามมีการนำไปขยายพันธุ์ในเชิงการค้าต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก วช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ลักษณะทั่วไป

ข้าวไรซ์เบอรี่มีลักษณะเรียวยาว ผิวมันวาว เป็นข้าวจ้าวสีม่วงเข้มคล้ายกับลูกเบอร์รี่ที่มีสีม่วงเข้มเมื่อสุก หากเป็นข้าวกล้องจะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังมีรสชาติหอมมัน เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม เนื่องจากผ่านการขัดสีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น จึงยังทำให้คงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้อย่างครบถ้วน ข้าวสายพันธุ์พิเศษสีม่วงนี้สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี มีอายุเก็บเกี่ยว 130 วัน ให้ผลผลิตปานกลาง มีความสามารถต้านทานต่อโรคไหม้ แต่ไม่ต้านทานโรคหลาว จึงแนะนำให้เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกรอบของการปลูก

คุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ
ปริมาณอะไมโลส (amylose) 15.60%

อุณหภูมิแป้งสุก < 70 องศาเซลเซียส
เหล็ก13-18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
สังกะสี31.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
โอเมก้า 325.51 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
วิตามินอี678 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
โฟเลต48.1 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
เบต้า-แคโรทีน63 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
โพลีฟีนอล113.5 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
แทนนิน89.33 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม
แกมมาโอไรซานอล462 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม
ค่าดัชนีน้ำตาล62 

ที่มา : ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยน์ยีนข้าว

ความน่าสนใจ

ข้าวไรซ์เบอรี่ อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารสูง โดยคุณประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุดจะพบได้ในน้ำมันรำข้าว และรำข้าว มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระได้ดี อุดมไปด้วยโฟเลจในปริมาณสูง นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายหลายชนิด ได้แก่ เบต้าแคโรทีน, แกมมาโอไรซานอล, วิตามินอี, วิตามินบี 1, ลูทีน, แทนนิน, สังกะสี, โอเมก้า 3, ธาตุเหล็ก, โพลีฟีนอล และเส้นใย เป็นต้น ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยในการ

  1. บำรุงร่างกาย
  2. บำรุงสายตา
  3. บำรุงระบบประสาท
  4. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง
  5. ช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้อย่างมากมาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหลอดเหลือด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคสมองเสื่อม และโรคโลหิตจาง
  6. มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน ช่วยชะลอความแก่
  7. ลดระดับไขมัน และคอเรสเตอรอลได้

เป็นการรับประทานเพียง 1 ที่ได้ถึง 2 เป็นทั้งข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนไทย ทั้งยังเป็นสมุนไพรไปด้วยในตัว ครบทุกคุณประโยชน์แถมยังมีรสอร่อยถูกปากอีกด้วย

ผู้ที่สามารถทานข้าวไรซ์เบอรี่ได้

ข้าวไรซ์เบอรี่ เหมาะกับผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่รักสุขภาพ เพราะถือได้ว่าเป็นข้าวที่มีสารอาหารและคุณประโยชน์สูง โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ดังนี้

  • ผู้สูงวัย ควรได้รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งข้าวไรซ์เบอรี่มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างประสิทธิภาพในการไหลเวียนของเลือด ชะลอความแก่ บำรุงสายตาและระบบประสาท
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน ที่สามารถเปลี่ยนมารับประทานข้าวไรซ์เบอรี่ที่มีคุณสมบัติช่วยควบคุมน้ำตาลและน้ำหนักได้ เนื่องจากในข้าวสายพันธุ์นี้มีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำกว่าข้าวทั่วไป
  • สตรีมีครรภ์ เมื่อได้บริโภคข้าวสายพันธุ์นี้เข้าไปแล้วจะช่วยให้บุตรในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถป้องกันโรคปากแหว่งเพดานโหว่ได้ เพราะในข้าวไรซ์เบอรี่มีสารโฟเลต อีกทั้งยังมีน้ำตาลต่ำ ช่วยให้มารดาควบคุมน้ำหนักไม่ให้ครรภ์เป็นพิษ อีกทั้งยังมีธาตุเหล็กสูงซึ่งในหญิงมีครรภ์จะมีความต้องการแร่ธาตุชนิดนี้มากกว่าคนปกติ
  • ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากรับประทานข้าวไรซ์เบอรี่เป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหาร โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ช่วยในการบำรุงโลหิตและบำรุงร่างกายให้แข็งแรง

นอกจากนั้น ข้าวไรซ์เบอรี่ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมายหากรับประทานแทนข้าวขาวเป็นประจำ โดยเฉพาะข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ที่มีเส้นใย ช่วยลดระดับไขมันและคอเรสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ ช่วยควบคุมน้ำหนัก รักษาระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ เนื่องจากสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในข้าวชนิดนี้เสมือนเป็นยารักษาชั้นเลิศ ดังนั้น เราควรเลือกรับประทานอาหารเป็นยา ดีกว่าการรับประทานยาเป็นอาหาร

รงค์วัตถุสีม่วงของข้าวไรซ์เบอรี่

สีม่วงเข้มที่พบในข้าวไรซ์เบอรี่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติเนื่องจากมีส่วนประกอบเป็น "สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin)" ซึ่งก็คือรงค์วัตถุหรือสารสี สามารถละลายน้ำได้ดี และจัดอยู่ในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ (flavonoid) หรือสาร "ต้านอนุมูลอิสระ" ที่มีประสิทธิภาพสูง

ค่าการต้านอนุมูลอิสระในข้าวไรซ์เบอรี่

สำหรับประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระที่พบในข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งมีสีม่วงเข้มมากตามธรรมชาติ อยู่ที่ 229 - 304.7 umole/g การศึกษานี้ทำด้วยวิธี ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity) เรียกได้ว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลไม้หรือเครื่องดื่มชาเขียวที่ได้รับการยกย่องในด้านสรรพคุณที่ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระแล้ว ในข้าวชนิดนี้มีคุณค่าในการป้องกันสูงมากเกือบ 100 เท่า

ประสิทธิภาพสารต้านอนุมูลอิสระหลังการหุงต้ม

 กระบวนการหุงข้าวหรือต้มข้าวไรซ์เบอรี่ด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระลดลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับในข้าวดิบ แต่หากเทียบกับผักผลไม้บางชนิด น้ำชาเขียวในท้องตลาด หรือน้ำผลไม้แล้ว เมล็ดข้าวสีม่วงชนิดนี้ก็ยังให้ผลในการป้องกันสารอนุมูลอิสระได้สูงกว่าอยู่ดี จึงถือว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง ในเมื่อสารต้านอนุมูลอิสระไม่ได้ถูกทำลายไปจนหมด เมื่อเรารับประทานข้าวไรซ์เบอรี่เข้าไป รวมกับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายที่มีอยู่จากอาหารชนิดอื่นๆ ด้วยแล้ว จัดว่าเพียงพอที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

ที่มาข้อมูล  กองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว, ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยน์ยีนข้าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้