ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

Last updated: 15 ก.ค. 2562  |  1796 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หมายถึง ข้าวเปลือก, ข้าวกล้องและข้าวสาร ที่แปรรูปมาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ และพันธุ์ กข๑๕ ซึ่งปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ

คุณลักษณะพิเศษของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ 
คุณภาพข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เมล็ดข้าวยาวเรียวมากกว่า ๗ มิลลิเมตรขึ้นไป เมล็ดข้าวมีความใส แกร่ง เลื่อมมัน ความหอมของข้าวเกิดจากสารประกอบ 2-Acetyl-1-Pyrroline (2AP) มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ข้าวหุงสุกมีกลิ่นหอม อ่อนนุ่ม

สภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้ในฤดูฝนจึงเป็นพื้นที่รับน้ำที่หลากมาจากพื้นที่รอบๆ ขอบแอ่ง นำสารอาหารต่างๆ ลงมารวมกันเป็นวัตถุดิบในการสร้างสารหอมและเมล็ดข้าวที่มีลักษณะพิเศษ ความแตกต่างของสภาพอากาศในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ช่วงฤดูแล้งมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง ช่วงฤดูฝนเมื่อเข้าสู่ฤดูปลูกข้าว มีความชื้นในอากาศสูงและอากาศร้อน ต้นข้าวมีการคายน้ำอย่างสม่ำเสมอ รากข้าวจะดูดน้ำในดินที่มีสารอาหารละลายอยู่ นำไปสร้างเมล็ดข้าวและสะสมความหอม การที่ต้นข้าวดูดสารอาหารได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้การสร้างแป้งในเมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์จับตัวกันแน่นไม่มีท้องไข่ ช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต จากอากาศร้อนชื้นจะเปลี่ยนเป็นอากาศเย็น อุณหภูมิลดลงทันที สภาพอากาศแห้ง ทำให้แป้งข้าวที่เริ่มเต็มเมล็ดจับตัวกันแน่นค่อยๆคายความชื้นออก เมล็ดข้าวจึงมีความเลื่อมมันและเมล็ดขาวใส

ขอบเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ใน ๕ จังหวัด มีเนื้อที่ ๒,๑๐๗,๖๙๐ ไร่

จังหวัดเขตอำเภอจำนวน(ไร่)
ร้อยเอ็ดเกษตรวิสัย
สุวรรณภูมิ
ปทุมรัตน์
โพนทราย
หนองฮี
๙๘๖,๘๐๐๗
สุรินทร์ท่าตูม
ชุมพลบุรี
๕๗๕,๙๙๓
ศรีสะเกษราษีไศล
ศิลาลาด
๒๘๗,๐๐๐
มหาสารคามพยัคฆภูมิพิสัย๑๙๓,๘๙๐
ยโสธรมหาชนะชัย
ค้อวัง
๖๔,๐๐๐


สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดสุรินทร์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับกรมการข้าว ได้ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (Khao Hom Mali Thung Kula Rong Hai) กับสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ และสหภาพยุโรปได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้แล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๖

จังหวัดสุรินทร์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการผลิตและการตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ (ด้านเศรษฐกิจ) เป็นประธานกรรมการ พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่วางแผนส่งเสริมการผลิต การแปรรูปและการตลาดข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้แบบครบวงจรทั้งในและต่างประเทศ และได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ (ด้านเศรษฐกิจ) เป็นประธานคณะทำงาน พาณิชย์จังหวัดสุรินทร์เป็นคณะทำงานและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่จัดระบบการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสินค้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้